องุ่นเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งในการรับประทานผลสดและในรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่นไวน์เป็นต้น นอกจากส่วนผลที่มีคุณค่าในแง่ของการรับประทานแล้ว ในเมล็ดองุ่นยังอุดมไปด้วยสารสำคัญที่เรียกว่า Oligomeric proanthocyanidins หรือ OPC[1] ซึ่งอยู่ในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) ซึ่งเป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “superantioxidant” นั่นเอง เป็นที่ทราบกันดีว่าสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มนี้มีคุณประโยชน์ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผนังหลอดเลือดและชั้นผิวหนัง นอกจากนี้สารสกัด OPC จากเมล็ดองุ่นยังมีประสิทธิภาพในการช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้นอีกด้วย
ผิวของคนเราจะมีเม็ดสีที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากการทำลายของแสงแดดไม่ให้ไหม้เกรียมหรือถูกเผา เม็ดสีนี้เรียกว่า เมลานิน (melanin) โดยเม็ดสีนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ เม็ดสีผิวที่ออกโทนดำและน้ำตาล (eumelanin) และเม็ดสีผิวที่ออกโทนแดงและชมพู (pheomelanin)[2] การที่ผิวมีสีเข้มหรือคล้ำขึ้น เกิดจากการสร้างเม็ดสีผิวที่ออกโทนดำมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของกระบวนการสร้างเม็ดสี (melanogenesis) โดยมีเอนไซม์ Tyrosinase ที่ถูกกระตุ้นโดยรังสี UV ทำหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนสารตั้งต้น Tyrosine ให้กลายเป็นเม็ดสีผิวแล้วลำเลียงไปยังชั้นผิวหนังนั่นเอง
สารสกัด OPC จากเมล็ดองุ่นนี้เองที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase ทำให้กระบวนการสร้างเม็ดสีผิวชนิดเข้มลดลง เมื่อเม็ดสีผิวชนิดเข้มถูกสังเคราะห์น้อยลง ผิวจึงดูกระจ่างใสขึ้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าว่าสารสกัดจากเมล็ดองุ่นสามารถช่วยให้ปัญหาฝ้า (chloasma) ในผู้ทดสอบหญิงชาวญี่ปุ่น ดูจางลงได้ 83% [3]
นอกจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากเมล็ดองุ่นเพื่อปกป้องผิวให้ดูสว่างขึ้นแล้ว การดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว การทาครีมกันแดดและใช้สกินแคร์ที่เหมาะกับสภาพผิวอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดูแลผิวให้กระจ่างใสดูสุขภาพดีเช่นกัน
[1] Grape Seed Extract. (2020). Retrieved 25 June 2020, from https://www.nccih.nih.gov/health/grape-seed-extract
[2] Human Biological Adaptability: Skin Color as an Adaptation. (2020). Retrieved 25 June 2020, from https://www2.palomar.edu/anthro/adapt/adapt_4.htm
[3] Yamakoshi, J., Sano, A., Tokutake, S., Saito, M., Kikuchi, M., & Kubota, Y. et al. (2004). Oral intake of proanthocyanidin-rich extract from grape seeds improves chloasma. Phytotherapy Research, 18(11), 895-899. doi: 10.1002/ptr.1537